การจัดการศึกษาแบบซาเลเซียน


การจัดการศึกษาแบบซาเลเซียน มีลักษณะเฉพาะของตน ซึ่งเป็นมรดกฝ่ายจิตที่นักบุญยอห์น บอสโก ผู้ตั้งคณะนักบวชซาเลเซียน และคณะธิดาแม่พระองค์อุปถัมภ์ ได้วางรากฐานไว้ 

เป้าหมายการจัดการศึกษาแบบซาเลเซียน
      การจัดการศึกษาแบบซาเลเซียน เป็นการจัดการศึกษาที่ยึดบุคคลเป็นศูนย์กลาง โดยมุ่งพัฒนานักเรียนให้เติบโตอย่างสมดุลรอบด้าน คือ ด้านสุขภาพร่างกาย ด้านจิตใจอารมณ์ ด้านสังคม ด้านสติปัญญา และด้านจิตวิญญาณ กระบวนการการศึกษาแบบซาเลเซียนมีเป้าหมายเพื่อให้นักเรียนสามารถค้นพบโครงการของพระเจ้าเหนือชีวิตของตน เป็นบุคคลที่มีศักดิ์ศรี เป็นคนดี มีคุณภาพของสังคม หรือที่กล่าวว่า “เป็นพลเมืองที่ซื่อสัตย์สุจริตและศาสนิกชนที่ยึดมั่นในหลักธรรมของศาสนา” การจัดการศึกษาแบบซาเลเซียนจะบรรลุเป้าหมายเมื่อผู้เรียนเป็นผู้ที่มีคุณธรรมและควบคู่กับความรู้ โดยเป็นคนดีท่ามกลางกระแสสังคมที่เปลี่ยนแปลง และสามารถนำองค์ความรู้ไปพัฒนาตนเองและสังคม  เป็นผู้เปี่ยมด้วยด้วยความรักต่อพระเจ้าและเพื่อนมนุษย์ มีความสุขยินดีที่จะทำความดีอยู่เสมอด้วยเจตจำนงที่เที่ยงตรง จนบรรลุชีวิตนิรันดร์


บทบาทของนักการศึกษาแบบซาเลเซียน
การจัดการศึกษาเพื่อให้นักเรียนบรรลุเป้าหมายตามเจตนารมณ์ของนักบุญยอห์ บอสโก เป็นภารกิจที่สูงส่งและท้าทาย นักการศึกษาแบบซาเลเซียนย่อมตระหนักเสมอว่า
  1. การจัดการศึกษาเป็นภารกิจที่พระเจ้าทรงมอบฝากไว้ จึงต้องทำให้ดีที่สุด
  2. นักเรียนแต่ละคนที่เข้ามาในสถาบันของเรา เป็นผู้ที่พระเจ้าส่งมาให้เราดูแลเอาใจใส่  จึงรักและหวังดีกับทุกคนอย่างจริงใจ
  3. ภารกิจด้านการศึกษา เป็นสนามงานแพร่ธรรมที่สำคัญที่สุดในการประกาศข่าวดีของพระเจ้า จึงต้องมีการวางแผน วิเคราะห์สภาพแวดล้อม และกำหนดกลยุทธ์ที่มีความเหมาะสมและเป็นไปได้ในการปฏิบัติ
  4. การจัดการศึกษาแบบซาเลเซียนคือการทำงานร่วมกันเป็นหมู่คณะ ทุกคนต้องมีส่วนร่วม ชัดเจนในบทบาทและหน้าที่ของตน และร่วมกันขับเคลื่อนการศึกษาให้ดำเนินไปในทิศทางเดียวกัน
  5. การจัดการศึกษาแบบซาเลเซียน ต้องเป็นการศึกษาที่มีคุณภาพ โดยคำนึงถึง จิตตารมณ์ของคณะสภาพความต้องการของเยาวชน โดยเฉพาะผู้ที่ยากจนและด้อยโอกาส และการเปลี่ยนแปลงในสังคมโลก
  6. สภาพแวดล้อมและบรรยากาศในโรงเรียนมีผลต่อพฤติกรรมของนักเรียน นักการศึกษาซาเลเซียนจึงให้ความสำคัญการการจัดสภาพแวดล้อมที่ร่มรื่น สวยงาม การรักษาความสะอาดของสถานที่ การติดข้อคิดต่างๆ อันจะช่วยให้นักเรียนคุ้นเคยกับสิ่งที่ดีงาม  
  7. นักการศึกษาแบบซาเลเซียนมุ่งมั่นพัฒนาตนให้เป็นผู้มีความรู้ ความสามารถในการจัดการศึกษาอย่างมืออาชีพ
  8.  ครู บุคลากร พนักงาน คือผู้ร่วมพันธกิจในการจัดการศึกษาแบบซาเลเซียน จึงต้องได้รับการอบรม พัฒนาอย่างต่อเนื่อง เพื่อสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประสิทธิผล
  9. นักการศึกษาแบบซาเลเซียน ต้องเป็นแบบอย่างแก่บุคคลรอบข้างในสิ่งที่ตนเองบอกสอน เป็นเพื่อนร่วมทางกับหมู่คณะผู้อบรม เป็นเพื่อน พี่สาว และมารดา สำหรับนักเรียน และทำงานเป็นเครือข่ายกับผู้ปกครองและหน่วยงานอื่นเพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษาให้เติบโตอย่างยั่งยืน 


วิธีการอบรมแบบซาเลเซียน
วิธีการอบรมของนักบุญยอห์น บอสโก เป็นวิธีการที่ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางว่าเป็นการอบรมที่มีประสิทธิภาพ เพราะช่วยให้เยาวชนมากมายเป็นบุคคลที่มีคุณภาพและคุณธรรม เช่น ดอมินิก ซาวีโอ ที่พระศาสนจักรยกย่องให้เป็นนักบุญแบบอย่างของเยาวชน และ ไมเคิล มาโกเน ที่เปลี่ยนแปลงชีวิตของตนจากเด็กเกเรเหลวไหล เป็นเด็กดีที่สุด เป็นต้น
วิธีการที่นักบุญยอห์น บอสโก ใช้ในการอบรมเด็กๆ เรียกว่า “ระบบป้องกัน” ซึ่งมีหลักอยู่ที่ เหตุผล ศาสนา และความรักใจดี ทั้งนี้เพราะท่านตระหนักว่า การอบรมคืองานของความรัก เด็กๆ สัมผัสได้ถึงความรักเยี่ยงบิดาของนักบุญยอห์น บอสโก ความรักซึ่งมีต้นธารมาจากพระเยซูเจ้าทำให้ท่านอุทิศตนเพื่อเด็กๆ  ให้การอบรม สั่งสอน ปกป้อง คุ้มครอง เพื่อเด็กๆ รู้ว่าผู้อบรมรักเขา ปรารถนาและหวังดีกับเขา จึงเกิดความผูกพัน นบนอบเชื่อฟัง เป็นเด็กดี และขยันเรียน นักบุญยอห์น บอสโก สอนผู้อบรมว่า “จงพยายามรักสิ่งที่เยาวชนรัก แล้วเยาวชนจะรักสิ่งที่ผู้อบรมรักด้วย” ท่านย้ำถึงคำพูดของนักบุญฟรังซิส เดอ ซาล ว่า “น้ำผึ้งช้อนเดียว สามารถจับแมลงวันได้ยิ่งกว่าน้ำส้ม 1 ถัง”  นอกจากนี้ท่านยังกล่าวว่า “ความรักต้องมีจุดหมายเหนือธรรมชาติ นั่นคือ เพื่อความดีของเด็กและความรักต่อพระเท่านั้น” 


Share on Google Plus

About FMA Education

This is a short description in the author block about the author. You edit it by entering text in the "Biographical Info" field in the user admin panel.

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น